วิธีใช้ ยาฆ่าหญ้า อย่างถูกวิธี
ยาฆ่าหญ้า หรือ สารกำจัดวัชพืช เป็นสารที่ใช้เพื่อฆ่าหรือยับยั้งการเจริญของวัชพืช มีข้อดีคือ สะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพที่ดีในการควบคุมวัชพืช แต่เพื่อความปลอดภัยและความเป็นประโยชน์สูงสุด จึงควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสารกำจัดวัชพืช ทั้งเรื่องชนิด การเลือกใช้ และวิธีใช้ ยาฆ่าหญ้าที่เหมาะสม
สิ่งที่ควรรู้เป็นอันดับแรกเกี่ยวกับสารกำจัดวัชพืชก็ คือ
1. สารออกฤทธิ์ หรือ สารสำคัญ หรือ Active ingredient (a.i.) คือ ส่วนของสารเคมีหลัก ที่มีผลในการควบคุมวัชพืช โดยในสารกำจัดวัชพืชต่าง ๆ จะต้องระบุเอาไว้ชัดเจนว่ามีสารออกฤทธิ์เป็นสารใด และมีปริมาณเท่าไหร่
2. สารผสม หรือ Inert ingredient หมายถึง สารอื่นๆที่ใส่เข้ามาผสมด้วย เป็นสารที่ช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพของสารออกฤทธิ์ในทางอ้อม เช่น สารจับใบ สารละลาย สารลดแรงตึงผิว
3. ชื่อสามัญ หรือ Common name เป็นชื่อที่ตกลงกันไว้ของสารออกฤทธิ์ ที่ไม่ใช่ชื่อทางการค้า เมื่อมีการพูดถึง จะเข้าใจตรงกันว่าเป็นยาชนิดใดในท้องตลาด
โดยทั้ง 3 ข้อนี้จะมีระบุอยู่ที่ฉลากของสารกำจัดวัชพืช สามารถใช้เป็นข้อพิจารณาเพื่อการเลือกซื้อสารกำจัดวัชพืชได้
ดังนั้นเมื่อต้องทำการเลือกซื้อ จึงควรดูทั้ง 3 สิ่งนี้เพื่อประกอบการตัดสินใจในการซื้อ เพื่อที่จะได้ไม่ซื้อสารกำจัดวัชพืชที่ซ้ำกัน หรือออกฤทธิ์แบบเดียวกัน
รูปแบบของสารกำจัดวัชพืช มีหลากหลายรูปแบบและแตกต่างกันไปตามสารออกฤทธิ์และการใช้งาน
จากภาพ ด้านซ้ายคือ พาราควอต ไดคลอไรด์ ส่วนด้านขวาคือ กรัมม็อกโซน แต่เมื่อดูจากในกรอบสีเขียว ซึ่งคือชื่อสามัญของสารกำจัดวัชพืช เป็นสารเคมีชนิดเดียวกัน คือ พาราควอต ไดคลอไรด์ และเมื่อดูที่กรอบสีแดง ที่ระบุสารสำคัญของสารกำจัดวัชพืช จะเห็นได้ว่าเป็น 1.1-dimethyl-4.4-bipyridinium,dichloride เช่นเดียวกันและมีปริมาณของสารออกฤทธิ์เช่นเดียวกัน
- แบบผงฝุ่นละเอียด (Dustable powder: DP) สามารถฉีดพ่นด้วยเครื่องพ่นได้เลยโดยไม่ต้องผสมน้ำ มักใช้ในงที่ขาดแคลน้ำ ข้อเสีย คือ ต้องใช้ในปริมาณมาก เนื่องจากมีความเข้มข้นต่ำ และ มักจะฟุ้งกระจายก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อมได้ง่าย
- แบบผงผสมน้ำ (Wettable powder: WP) เป็นรูปผงแขวนลอยในน้ำ เวลานำมาใช้ต้องผสมน้ำให้ได้ความเข้มข้นที่ต้องการ เมื่อผสมน้ำแล้วจะต้องใช้ทันทีเพื่อไม่ให้ตกตะกอน
- แบบผงละลายในน้ำได้ (Soluble power: SP) อยู่ในรูปผงละลายน้ำได้ จะไม่ตกตะกอน เวลาใช้อาจเติมสารช่วยเกาะผิวพื้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ หากเก็บสารกำจัดวัชพืชไว้นาน และมีความชื้นสูง ผงมักจับตัวเป็นก้อน
- แบบเม็ด (Granule: GR) เพื่อใช้หว่านหรือหยอดในดินเท่านั้น หากดินมีความชื้นพอ สารเคมีจะออกฤทธิ์ซึมไปตามระบบราก ห้ามละลายน้ำ เพราะนอกจากจะละลายยากแล้วยังมีอันตรายสูงอีกด้วย
- แบบแคปซูล (Capsule Suspension: CS) ที่มีสารเคมีรูปแบบของเหลวอยู่ข้างใน และจะซึมออกช้าๆ มีฤทธิ์คงทนยาวนาน
- แบบน้ำมัน (Emulsifiable Concentrate: EC) เป็นรูปแบบที่นิยมมากที่สุด ตัวสารออกฤทธิ์จะละลายน้ำไม่ได้ ในสารกำจัดวัชพืชจึงมี Emulsifier ผสมอยู่ เพื่อให้สารออกฤทธิ์ละลายน้ำได้ เมื่อผสมน้ำแล้วจะเป็นสีขาวขุ่น
- แบบน้ำ (Suspension Concentrate: SC) สารออกฤทธิ์จะเป็นละลายน้ำได้ เมื่อผสมน้ำจะไม่เป็นสีขาวขุ่น
ชนิดของสารกำจัดวัชพืช สามารถแบ่งชนิดออกได้หลายแบบ แต่ส่วนใหญ่นิยมจำแนกตามช่วงเวลาการใช้
สารกำจัดวัชพืชประเภทก่อนปลูก
ใช้พ่นก่อนการตรียมดิน เพื่อฆ่าวัชพืชที่ขึ้นอยู่ก่อน แล้วจึงไถเตรียมดิน หรือใช้พ่นฆ่าวัชพืชแทนการเตรียมดินแล้วปลูกพืชเลย สารกำจัดวัชพืชประเภทนี้ได้แก่ ไกลโฟเซท, พาราควอต, อาทราซีน และ อามีทรีน เป็นต้น
สารกำจัดวัชพืชประเภทก่อนงอก หรือที่เรียกกันว่ายาคุมหญ้า
จะใช้ฉีดพ่นหลังปลูกพืชไปแล้ว แต่ก่อนที่วัชพืชจะงอก ช่วงไม่เกิน 10 วัน เป็นการฉีดพ่นที่ผิวดินโดยตรง สารกำจัดวัชพืชจะเข้าไปทำลาย เมล็ด ราก และยอดอ่อนใต้ดินของวัชพืช ควรฉีดพ่นดินที่มีความชื้นเหมาะสม สารกำจัดวัชพืชประเภทนี้ได้แก่ บิวทาคลอร์, เพรททิลาคลอร์, อ๊อกซาไดอะซอน และ อะซีโทคลอร์ (เบติส) เป็นต้น
สารกำจัดวัชพืชประเภทหลังงอก หรือที่เรียกกันว่า ยาฆ่าหญ้า
เป็นสารเคมีที่ใช้ฉีดพ่นหลังจากวัชพืชงอกแล้วเกินกว่า 10 วัน ขณะที่ฉีดพ่น ควรให้สารกำจัดวัชพืชสัมผัมกับส่วนของวัชพืชให้มากที่สุด สารกำจัดวัชพืชประเภทนี้ได้แก่ กลุ่มยา 2,4-ดี โซเดียมซอลท์(เอชโซนัส 95), ฟิโนซาพรอบ-พี-เอทิล, ไตรโคลเพอร์ บิวทอกซีเอทิล เอสเทอร์ (การ์ลอน) และ ฮาโลซีฟอป อาร์ เมทิล (กาลแล็นท์) เป็นต้น
นอกจากนั้นยังมีการแบ่งสารกำจัดวัชพืชตามชนิดของวัชพืช
วัชพืชใบแคบ ใบจะยาว เส้นใบขนาน ลำต้นกลม ข้อ ปล้อง ชัดเจน เป็นพวกพืชในวงศ์หญ้า เช่น หญ้าปากควาย หญ้าข้าวนก หญ้าคา หญ้าตีนนก หญ้าขจรจบ จะใช้สารกำจัดวัชพืช เช่น กาลแล็นท์, อาทราซีน และ อามีทรีน เป็นต้น
วัชพืชใบกว้าง ใบจะกว้างกว่าใบแคบ ใบมีหลายรูปแบบ เส้นใบเป็นร่างแห เช่น ผักเบี้ย ผักโขมหนาม ผักเสี้ยนผี สาบเสือ ไมยราบ จะใช้สารกำจัดวัชพืช เช่น การ์ลอน, 2,4-ดี โซเดียมซอลท์
วัชพืชประเภทกก คล้ายวัชพืชใบแคบ ลำต้นอาจกลมหรือเป็นสามเหลี่ยม แต่ไม่มีข้อปล้อง เช่น แห้วหมู กกทราย กกขนาก จะใช้สารกำจัดวัชพืช เช่น 2,4-ดี โซเดียมซอลท์ , อาทราซีน และ อามีทรีน เป็นต้น
สารกำจัดวัชพืชบางชนิดใช้ได้ทั้งกับวัชพืชใบกว้างและใบแคบ เช่น ไกลโฟเซต, พาราควอต, กรัมม็อกโซน, เบติส, บาสต้า เอ็กซ์, ไดยูรอน และ อามีทรีน เป็นต้น
วิธีใช้ ยาฆ่าหญ้า ให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัย
- ทำการเตรียมดินให้และปรับระดับพื้นที่ให้สม่ำเสมอ หลังจากการฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชหากมีการได้รับน้ำอย่างทั่วถึง จะทำให้สารกำจัดวัชพืชมีประสิทธิภาพที่ดี
- เลือกใช้สารกำจัดวัชพืชให้ตรงกับพืชปลูกและวัชพืช เช่น วัชพืชใบแคบ วัชพืชใบกว้าง
- ควรจะกำจัดวัชพืชตั้งแต่ที่ยังเป็นต้นอ่อน อายุยังน้อย หรือช่วงที่กำลังเจริญ เนื่องจากสารกำจัดวัชพืชจะได้เข้าสู่ต้นวัชพืชได้ดี แต่ที่สำคัญคือควรกำจัดวัชพืชก่อนระยะออกดอก หรือเมล็ด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
- ใช้สารกำจัดวัชพืชในปริมาณที่เหมาะสม โดยดูจากอัตราการใช้ที่ระบุที่ฉลาก โดยทั่วไปสารกำจัดวัชพืชประเภทก่อนปลูก ที่จะฉีดพ่นทางดิน จะบอกอัตราการใช้ต่อไร่ ตามสภาพของดิน โดยดินเหนียวหรือดินที่มีอินทรีย์วัตถุสูงควรใช้สารกำจัดวัชพืชในปริมาณค่อนข้างสูง ส่วนดินทราย หรือ ดินที่มีอินทรียวัตถุต่ำ ควรใช้ในปริมาณน้อย เนื่องจากดินเหนียวหรือดินที่มีอินทรีย์วัตถุสูงมีความสามารถในการดูดซึมสารเคมีมากกว่าดินทราย
- ใช้เครื่องฉีดที่มีแรงดันคงที่ และเดินด้วยความเร็วที่คงที่ เพื่อที่จะได้มีการฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชอย่างสม่ำเสมอ
- ผลตกค้างของสารกำจัดวัชพืช โดยทั่วไปจะคุมวัชพืชได้นานประมาณ 5 – 10 สัปดาห์
- ไม่ควรใช้น้ำที่เป็นน้ำกระด้าง น้ำกร่อยหรือน้ำนาที่เป็นกรดจัดหรือดินเปรี้ยว ในการผสมกับสารกำจัดวัชพืช
- การผสมสารกำจัดวัชพืชหลายชนิดเข้าด้วยกัน ควรทำการศึกษาก่อน เพราะสารกำจัดวัชพืชอาจมีคุณสมบัติทางเคมีที่เข้ากัน
- ทำการฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น
-ฝน ควรฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชในช่วงที่ปลอดฝน โดยเฉพาะการฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชทางใบ
-ความชื้น สารกำจัดวัชพืชจะดูดซึมได้ดีในสภาพที่มีความชื้นสูงมากกว่าสภาพแห้งแล้ง อาจฉีดพ่นในช่วงเช้าที่มีน้ำค้างเกาะอยู่บนใบพืช จะช่วยให้จับบนใบได้ดี
-ลม ควรฉีดพ่นขณะที่ลมสงบ ส่วนมากจะเป็ยช่วงเช้า ตั้งแต่ 6 – 10 โมงเช้า และช่วงเย็นหลัง 4 โมงเย็น ไปแล้ว
- ไม่ทิ้งสารกำจัดวัชพืชที่ผสมแล้วไว้ในเครื่องพ่น เพราะอาจมีการทำปฏิกิริยากับตัวเครื่องได้
เว้นระยะเก็บผัก ผลไม้ หลังฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชตามที่ระบุไว้ในฉลาก
แอดไลน์มาสิ ! คุณจะไม่พลาดข่าวสารสำคัญๆ หรือ สอบถาม แบบสั้นๆเข้าใจง่ายไว้ในบทความนี้ วิธีใช้ ยาฆ่าหญ้า อย่างถูกวิธี เพิ่มเติม
เกษตรสมบูรณ์ บริการให้คำปรึกษาด้านการเกษตร และ จำหน่าย ปุ๋ย ยา และ เมล็ดพันธุ์ผัก เช่น ศรแดง เจียไต๋ และตะวันต้นกล้า ราคาปลีกและส่ง พร้อมจัดส่งทั่วประเทศ
ID Line : @uox0813g
Facebook : www.facebook.com/kasetsomboonstore
Facebook : fb.me/kasetsomboonstore
อยากทราบว่า..ทางร้านมียาฆ่าหญ้าของแม็กซาโก้แบบเผาไหม้ ที่ใช้ฉีดในผักได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อพืชผักในไร่บ้างมั้ยคะ ช่วยแนะนำหน่อยได้มั้คะ