วิธีปลูกแฟง และแฟงงาช้าง ฉบับจับมือทำ
แฟงหรือฟักเขียว เป็นพืชวงศ์แตง (Cucurbitaceae) เช่นเดียวกับ ฟักทอง แตงกวา แตงโม มะระ และบวบ จึงมีวิธีการปลูกที่คล้ายกัน ถ้าเกษตรกร ทำการปลูกพืชอื่น ๆ ในวงศ์เดียวกันอยู่แล้ว ก็จะเป็นการง่ายในการจัดการดูแล แต่ถ้าเป็นเกษตรกรมือใหม่หรือผู้ที่สนใจจะเริ่มทำการปลูกแฟง เราได้รวบรวมข้อมูล วิธีปลูกแพง และแฟงงาช้าง ไว้ที่นี่แล้ว
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญ
– ชอบดินร่วน ดินร่วนปนทราย หรือดินเหนียวผสมดินร่วน – มีการระบายน้ำและถ่ายเทอากาศได้ดี น้ำไม่ท่วมขัง – ดินมีความเป็นกรด-ด่าง (pH) อยู่ระหว่าง 5.5-7.5 – สามารถปลูกได้ทุกฤดู ช่วงที่ดีที่สุด คือ ช่วงปลายฝนต้นหนาวจะทำให้มีการติดผลได้ดี – ถ้าความชื้นในอากาศสูงจะทำให้ผลผลิตต่ำ – ควรปลูกในพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำและสะดวกต่อการใช้ตลอดฤดูปลูก
การเตรียมพันธุ์
เลือกเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ เปอร์เซ็นต์การงอกสูง เป็นพันธุ์ที่มีความนิยม ลักษณะดี และเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งแฟงในตลาดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ แฟงไส้ตันผลใหญ่(แฟงงาช้าง) เช่น แฟงงาช้าง บางระจัน และ แฟง งาช้าง แฟงไส้ตัน เช่น ปิ่นแก้ว, ปิ่นทอง และ สลาตัน
การเตรียมดิน
– ควรไถดินลึก 5 – 8 นิ้ว ตากดิน 7 – 10 วัน แล้วไถพรวนอีก 1 – 2 ครั้ง ปรับระดับดินให้เสมอ – เตรียมหลุมลึก 3 – 5 เซนติเมตร ระยะปลูกระหว่างต้น 2 – 2.5 เมตร และระหว่างแถว 1 – 1.5 เมตร เว้นทางเดินระหว่างแปลง 30 – 50 เซนติเมตร – อาจรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกที่สลายตัวแล้วลงไปเพื่อเพิ่มธาตุอาหาร อัตรา 1 – 2 ตัน/ไร่ และปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 30 กิโลกรัม/ไร่
การปลูก
สามารถทำได้ 2 วิธี
- การหยอดเมล็ด หยอดเมล็ด หลุมละ 3 – 5 เมล็ด กลบด้วยดินละเอียด คลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้ง แปลงหนาพอสมควร รดน้ำให้ชุ่ม เพื่อรักษาความชื้นของดิน เมื่อต้นกล้าแตกใบจริงได้ 2-3 ใบ หรือประมาณ 10 -15 วัน ถอนแยกให้เหลือ 1-2 ต้นต่อหลุม
- การเพาะกล้า เตรียมดินผสม ดิน:ปุ๋ยคอก อัตราส่วน 3:1 บรรจุในถุงเพาะกล้า ขนาด 3 × 7 หรือ 4 × 6 นิ้ว หยอดเมล็ด 1 – 2 เมล็ด/ถุง เมื่อต้นกล้าแตกใบจริงได้ 2-3 ใบ หรือประมาณ 10 -15 วัน ย้ายลงแปลงปลูก
เนื่องจากหนูหรือสัตว์ศัตรูพืชอาจจะขุดคุ้ยเมล็ดพืชหรือกัดกินต้นกล้าที่เพาะไว้ จึงควรมีการปลูกซ่อมแซม
การให้น้ำ
หมั่นรดน้ำให้ชุ่มอย่างสม่ำเสมอ แต่ให้ระวังอย่าให้แฉะ อาจมีการงดการให้นํ้า โดยคำนึงตามสภาพอากาศ แต่ต้องไม่ให้ฟักเขียวขาดน้ํา โดยเฉพาะระยะออกดอกและติดผล เพราะจะทําให้ดอกร่วง ไม่ติดผล และจะหยุดการให้น้ำเมื่อใกล้อายุเก็บเกี่ยว ประมาณ 15 วันก่อนเก็บผลผลิต
การใส่ปุ๋ย
- เมื่อต้นกล้ามีใบจริง 6 – 7 ใบ ใส่ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) อัตรา 20 กิโลกรัม/ไร่
- ในระยะออกดอก ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 20 – 30 กิโลกรัม/ไร่
- ช่วงติดผล ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 หรือสูตรใกล้เคียง อัตรา 30 – 50 กิโลกรัม/ไร่
การดูแลรักษา
เมื่อแฟงเริ่มเลื้อยหรือมีอายุประมาณ 15 – 20 วัน ควรทําค้างหรือร้านเพื่อให้เลื้อยเกาะขึ้นไป โดยปักไม้ค้างยาว 2 – 2.5 เมตร แล้วเอนปลายเข้าหากันจากนั้นใช้ไม้ค้างพาดขวางประมาณ 2 – 3 ช่วง ช่วงละ 40 – 50 เซนติเมตร หรือทำเป็นค้างผูกเป็นร้าน สูงประมาณ 1.5 – 2 เมตร เพื่อให้ประหยัดพื้นที่ และง่ายต่อการดูแลรักษา
การเก็บเกี่ยว
แฟงไส้ตันสามารถสังเกตได้จากผลว่าเริ่มมีไขสีขาวจับผล หรือหลังหยอดเมล็ดประมาณ 75 วัน แต่ถ้าเป็นพันธุ์ผลใหญ่(แฟงงาช้าง) จะเก็บเกี่ยวได้ช้ากว่า อาจมีการเก็บผลผลิตไปได้อีก 2 – 3 เดือน ขึ้นอยู่กับการบำรุง การเก็บผลผลิต ให้เลือกใช้มีดที่คมตัดที่ขั้วของผล โดยเก็บขั้วผลไว้ประมาณ 1 นิ้ว เพราะจะทำให้เก็บรักษาได้นานมากขึ้น และให้เก็บไว้ในที่ที่มีอากาศถ่ายเท เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา
โรคและแมลงที่สำคัญ
โรคราน้ำค้าง
ในระยะแรกจะมีอาการจุดสีเหลืองด้านบนใบ ด้านล่างที่ตรงกันอาจเห็นเป็นเส้นใยขุยขาว หากมีอากาศชื้น ในตอนเช้า ต่อมาใบแห้งสีน้ำตาล มักจะเป็นที่ใบแก่ที่โคนก่อน วิธีป้องกันกำจัด ใช้ แมนโคเซป หรือ เมทาแลคซิล ฉีดป้องกัน หรือกำจัด ทุก 5 – 7 วัน
โรคราแป้ง
เกิดได้ทุกส่วนของต้น เห็นชัดมากที่ใบ จะเห็นเป็นผงหรือฝุ่นแป้งสีขาว ต่อมาใบและเถาจะค่อย ๆ ซีดเหลืองแล้วแห้งลง ถ้าเป็นส่วนที่ยังอ่อนอยู่อาจจะตาย ถ้าเป็นในระยะที่ผลยังเล็กหรืออ่อนอยู่ อาจทำให้แกร็น บิดเบี้ยว ผิวขรุขระ วิธีป้องกันกำจัด ใช้ คาร์เบนดาซิม หรือ แมนโคเซป ฉีดป้องกัน หรือกำจัด ทุก 5 – 7 วัน
ด้วงเต่าแตง
กัดกินใบอ่อน และดอกของพืช เกิดเป็นรู ๆ ตามใบ บางครั้งกัดกินบริเวณโคนต้นด้วย ทำให้เกิดเป็นแผล แล้วยังสามารถเป็นพาหะของเชื้อไวรัสได้อีกด้วย ระบาดทุกฤดูกาล โดยเฉพาะในช่วงที่แตงเริ่มแตกใบจริง วิธีป้องกันกำจัด ใช้ ไดโนทีฟูแรน หรือ ฟิโพรนิล ฉีดป้องกัน หรือกำจัด ทุก 5 – 7 วัน
หนอนชอนใบ
มักพบตัวหนอนชอนไชอยู่ในใบ ทำให้เกิดรอยเส้นสีขาวคดเคี้ยวไปมา หากระบาดรุนแรง จะทำให้ใบร่วง พืชเจริญไม่เต็มที่ ผลผลิตลด เนื่องจากสังเคราะห์แสงได้น้อยลง วิธีป้องกันกำจัด ใช้ อีมาเม็กตินเบนโซเอท หรือ คาร์แท็ป ไฮโดรคลอร์ไรด์(พาแดน 50เอสพี) ฉีดป้องกัน หรือกำจัด ทุก 5 – 7 วัน เทคนิคการทำให้ผลดก
- การเด็ดยอด
จะช่วยให้ออกดอกและแตกแขนงเร็ว มีอัตราส่วนดอกตัวเมียเพิ่มขึ้น ควรเด็ดยอดหลังปลูกแล้วประมาณ 20 – 25 วัน หรือมีใบจริง 7 – 8 ใบ โดยเด็ดข้อที่ 7 – 8 และจะเด็ดยอดอีกครั้งหลังติดผลแล้ว (เถาเลื้อยได้ประมาณ 3-3.5 เมตร)
- การตัดแต่งเถาและไว้ผล
ควรมีการจัดเถาให้ไปทิศทางเดียวกันให้เป็นระเบียบและจะสะดวกต่อการดูแลรักษา การไว้เถาจะไว้ 2-3 เถาต่อกันและคอยตัดแขนงที่แตกออกจากเถาหลัก การไว้ผลควรไว้ผลในตำแหน่งข้อที่ 12 ขึ้นไป 3.การช่วยผสมเกสร คล้ายกับการช่วยผสมเกสรของฟักทอง สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ ผสมเกสรฟักทองด้วยมือ
แอดไลน์มาสิ ! คุณจะไม่พลาดข่าวสารสำคัญๆ หรือ สอบถาม แบบสั้นๆเข้าใจง่ายไว้ในบทความนี้ วิธีปลูกแฟง และแฟงงาช้าง เพิ่มเติม
เกษตรสมบูรณ์ บริการให้คำปรึกษาด้านการเกษตร และ จำหน่าย ปุ๋ย ยา และ เมล็ดพันธุ์ผัก เช่น ศรแดง เจียไต๋ และตะวันต้นกล้า ราคาปลีกและส่ง พร้อมจัดส่งทั่วประเทศ