วิธีปลูก มะเขือเทศ ฉบับจับมือทำ !
มะเขือเทศเป็นพืชฤดูเดียว สามารถปลูกได้ตลอดปี แต่จะเจริญได้ดีและให้ผลผลิตสูงในฤดูหนาว ซึ่งบทความนี้จะรวบรวมข้อมูล วิธีปลูก มะเขือเทศ ตั้งแต่ การปลูก โรคแมลง และ ต้นทุนการผลิต
สภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการเจริญ
- เจริญได้ในดินทุกชนิด แต่ที่เหมาะที่สุด คือ ดินร่วน
- ดินมีอินทรียวัตถุสูง ระบายน้ำและถ่ายเทอากาศได้ดี
- มีค่าความเป็นกรดด่างของดิน (pH) ประมาณ 4.5 – 6.8
- อุณหภูมิที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตที่สุด คือช่วง 18 – 28 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิกลางคืน สูงกว่า 22 องศาเซลเซียส จะทำให้มะเขือเทศติดผลได้น้อย
ชนิดและพันธุ์ของมะเขือเทศ โดยแบ่งตามลักษณะการใช้งาน
- ประเภทรับประทานสด
มีทั้งแบบผลเล็กและผลโต พันธุ์ผลโต มีผลทรงกลม โต ผลสีเขียว มีไหล่เขียว เมื่อสุกจะสีแดงจัด มีช่องในผลมาก ไม่กลวง เนื้อหนาแข็ง เปลือกไม่เหนียว คือ พันธุ์ฟลอราเดล พันธุ์มาสเตอร์ เบอร์ 3
พันธุ์ผลเล็ก มีขนาดเล็ก รสชาติเปรี้ยว คือ
- พันธุ์สีดา เช่น มะเขือเทศสีดา เทพประทาน และ มะเขือเทศสีดา แพรวชมพู
- พันธุ์เชอรรี่ เช่น มะเขือเทศเชอร์รี่ ทับทิมแดง ที2021
- ประเภทส่งโรงงานอุตสาหกรรม
เป็นมะเขือเทศพันธุ์เนื้อ มีรสเปรี้ยวจัด มีเปอร์เซ็นกรดสูง ผลสุกไล่เลี่ยกันเกือบทั้งต้น เนื้อแน่น เปลือกเหนียว ไม่แตกช้ำง่าย เช่น พันธุ์ VF 134-1-2 พันธุ์ P 502 พันธุ์ P 600
การเตรียมดิน และแปลงปลูก
ไถดินลึกประมาณ 30 – 40 เซนติเมตร ควรไถ 2 ครั้ง ตากดิน 3 – 4 สัปดาห์ แล้วย่อยดินให้ละเอียด หากมีการใส่ปูนขาว เพื่อปรับความเป็นกรดด่างของดิน ควรใส่ปูนขาวก่อนปลูกประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ ปรับระดับดินให้เสมอกัน เพราะหากเป็นหลุมหรือแอ่ง อาจทำให้เกิดน้ำขังและต้นกล้าเน่าตายได้ ยกแปลงปลูก 30 เซนติเมตร กว้าง 1 เมตร ควรคลุมแปลงเพื่อกันวัชพืชและรักษาความชื้นในดิน
การปลูก สามารถทำได้หลายวิธี
- การเพาะในกระบะเพาะ
เหมาะกับการเพาะเมล็ดพันธุ์ที่มีราคาแพง เนื่องจากใช้ดินในปริมาณน้อย จึงสามารถฆ่าเชื้อในดินได้ โดยใช้ คลอไรด์พิตรินต่อน้ำ อัตรา 1 : 2000 นำไปรดดินก่อนปลูก 2 สัปดาห์ หรือตากดิน 3 – 4 สัปดาห์ นำดินที่เตรียมไว้ก่อนหน้าผสมกับปุ๋ยคอกและแกลบ อัตรา 3:1:1 หยอดเมล็ดแล้วกลบด้วยแกลบหรือทรายบางๆ รดน้ำให้ชุ่มแต่ไม่แฉะ อาจใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงผสมน้ำรดอีกที เพื่อป้องกันมดคาบเมล็ดไปกิน เช่น คาร์โบซัลแฟน ไดโนทีฟูแรน เป็นต้น เมื่อเมล็ดเริ่มงอกใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น แคปแทน เมทาแลกซิล ไทแรม เป็นต้น และ เมื่อต้นกล้าอายุได้ 15 วัน หรือมีใบจริง 2 ใบ ให้ย้ายกล้าลงใส่ถุงพลาสติกขนาด 4*6 นิ้ว ถ้าไม่ย้ายกล้าลงถุง ควรชำกล้าเป็นแถวในแปลงชำ เมื่อกล้าอายุ 30 – 40 วัน หรือสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ย้ายลงแปลงปลูก
- การเพาะในแปลงเพาะ
เหมาะกับต้องการต้นกล้าในปริมาณมาก ขนาดแปลง กว้าง 1 เมตร ความยาวขึ้นกับขนาดพื้นที่ ทางเดินระหว่างแปลง 50 เซนติเมตร โรยเมล็ดเป็นแถวห่างกันประมาณ 10 เซนติเมตร เมื่อต้นกล้าอายุได้ 20 -25 วัน หรือมีใบจริง 2 – 3 ใบ ย้ายลงแปลงปลูก
ที่แปลงเพาะควรมีตาข่ายพรางแสงหรือผ้าดิบคลุมแปลง เพื่อกันแดด ลม และฝน ควรเปิดให้แปลงรับแสงช่วงเช้าจนถึง 9.00 น. และเปิดอีกครั้งหลัง 16.00 น. หรืออาจใช้ฟางข้าวใหม่มาคลุมหลังโรยเมล็ด เมื่อเมล็ดงอก ให้เอาฟางออก
- การหยอดเมล็ดลงแปลงปลูกโดยตรง
เหมาะกับพื้นที่ที่ใกล้แหล่งน้ำ สามารถให้น้ำได้สะดวก แต่จะเสียเวลาและแรงงานในการดูแลรักษามากกว่าวิธีอื่น ใช้เมล็ดพันธุ์ 80 – 100 กรัม ต่อไร่
ระยะปลูกที่เหมาะสม
ปลูกเป็นแถวคู่ ระยะห่างระหว่างแถว 70 เซนติเมตร ระหว่างต้น 50 เซนติเมตรถ้าใช้ระยะปลูกที่แคบเกินไป จะทำให้การควบคุมโรคและการดูแลแปลงลำบาก ในฤดูฝนควรใช้ระยะปลูกห่าง เนื่องจากต้นพืชจะเจริญได้ดี มีทรงพุ่มสูงใหญ่กว่าฤดูอื่น ๆ
การให้น้ำ
สำหรับต้นกล้า หลังย้ายกล้า รดน้ำให้ชุ่ม เช้า – เย็น เมื่อกล้าตั้งตัวได้แล้ว รดวันละครั้ง อย่างสม่ำเสมอจนถึงผลเริ่มแก่ (ผลเริ่มเปลี่ยนสี) หลังจากนั้นให้ลดการให้น้ำลง เพราะในระยะนี้หากให้น้ำมากเกินไป อาจทำให้ผลแตกได้ และดินอาจชื้น แล้วเกิดการเข้าทำลายของเชื้อรา
การพรวนดินกลบโคนต้น
สำหรับแปลงที่ไม่ได้คลุมด้วยพลาสติก ควรทำการพรวนดินกลบโคนต้น โดยเปิดเป็นร่องระหว่างแถวเพื่อให้ให้น้ำสะดวก และทำให้รากเกิดมากขึ้น หลังจากทำครั้งแรกไปแล้ว 1 เดือน ให้ทำการกลบโคนอีกครั้ง
การใส่ปุ๋ย
อาจรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก และปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 20 กรัมต่อหลุม
หลังจากนั้นใส่เสริมอีกเพื่อเพิ่มคุณภาพและผลผลิต โดยใส่ตามสภาพของดิน เช่น
ดินเหนียว อาจใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 หรือ 15-30-15 อัตรา 100 กิโลกรัมต่อไร่
ดินร่วน อาจใส่ปุ๋ยสูตร 10-20-15 อัตรา 100 กิโลกรัมต่อไร่
ดินทราย อาจใส่ปุ๋ยสูตร 15-20-20 หรือ 13-13-21 อัตรา 100 กิโลกรัมต่อไร่ โดย อาจแบ่งใส่ 3 ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ 1 หลังย้ายปลูก 7 วัน
ครั้งที่ 2 หลังจากครั้งที่ 1 แล้ว 15 วัน
ครั้งที่ 3 หลังจากครั้งที่ 2 แล้ว 20 วัน
การปักค้าง
การปักหลักหรือทำค้างควรเริ่มทำหลังจากใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 ก่อนดอกออก โดยเชือกผูกกับลำต้นให้ไขว้กันเป็นเลข 8 และผูกเงื่อนกระตุกกับค้าง เพื่อให้ต้นเจริญได้ดี สะดวกต่อการดูแลรักษา และผลไม่สัมผัสดิน สะดวกต่อการเก็บเกี่ยว
การตัดแต่งกิ่ง
ตัดแต่งกิ่งเหลือไว้เพียง 1 – 2 กิ่ง สำหรับพันธุ์ที่ปลูกเพื่อรับประทานสด ผลจะออกทยอยตามกิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ หากมีผลมากเกิน ควรปลิดผลออก ให้เหลือต้นละประมาณ 15 – 20 ผล หากไม่ตัดแต่งกิ่งอาจเป็นโรคมาก และผลที่ได้จะมีขนาดไม่สม่ำเสมอ สำหรับพันธุ์ที่ปลูกเพื่อส่งโรงงาน ส่วนมากเป็นพันธุ์ทรงพุ่มเตี้ย จึงไม่ต้องมีการตัดแต่งกิ่งหรือปักค้าง
การเก็บเกี่ยว
ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวจะขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ โดยทั่วไปจะอยู่ในช่วง 75 – 90 วันหลังเพาะเมล็ด ซึ่งระยะเริ่มปลูกถึงเก็บเกี่ยวจะใช้เวลาประมาณ 4- 5 เดือน หากเก็บส่งตลาด ควรเก็บในระยะที่ไม่แก่จัดหรือห่าม ผลมีสีเขียวและเริ่มเปลี่ยนเป็นสีชมพูบ้าง และควรมีขั้วติดผลมาด้วย จะทำให้ทนทานต่อการขนส่ง ไม่ช้ำง่ายและเก็บไว้ได้นาน เมื่อถึงวางขายก็จะเริ่มสุกพอดี
ส่วนการเก็บส่งโรงงานอุตสาหกรรมนั้นต้องเก็บในระยะผลสุกเป็นสีแดงหรือสีส้มทั้งผล (ขึ้นอยู่กับพันธุ์) และเก็บไม่ให้มีขั้วผลติดมากับผลด้วย
เทคนิคการเก็บเกี่ยว
หลังจากเก็บเกี่ยวผลมะเขือเทศ ถ้าต้องการผิวสวย เก็บไว้ได้นานขึ้น เปอร์เซ็นต์การเน่าน้อยลง ควรเช็ดผิวมะเขือเทศด้วยน้ำปูนใส เช็ดให้สะอาด แล้วผึ่งลมให้แห้ง ในที่ร่ม
โรคและศัตรูที่สำคัญของมะเขือเทศ
โรคกล้าเน่าหรือเน่าคอดิน
แบ่งอาการได้เป็น 2 ระยะ
ระยะแรก หรือ ระยะก่อนงอก จะเข้าทำลายตั้งแต่ยังเป็นเมล็ดหรือเมล็ดงอกใหม่ ยังไม่โผล่พ้นดิน
ระยะที่สอง หรือ ระยะหลังงอก จะทำให้ต้นหักพับในระดับผิวดิน เรียก เน่าคอดิน ถ้าเข้าทำลายด้วยเชื้อRhizoctonia sp. ต้นจะคอดกิ่วสีดำหรือน้ำตาล แผลค่อนข้างแห้ง ถ้าเข้าทำลายด้วยเชื้อ Pythium sp. ที่โคนจะช้ำ แผลฉ่ำน้ำ และเน่ายุบ
เกิดจาก เชื้อราในดิน เช่น Rhizoctonia หรือ Pythium aphanidermatum
วิธีป้องกันกำจัด
- คลุกเมล็ดด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น เมทาแลกซิล ไทแรม เป็นต้น
- แช่เมล็ดในน้ำอุ่น 50 – 55 องศาเซลเซียส นาน 15 – 20 นาที
- ไม่รดน้ำมากเกินไป
- ถ้าพบการระบาดของโรค ราดดินด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น เมทาแลกซิล ไทแรม เป็นต้น

โรคกล้าเน่าที่เกิดจากเชื้อรา Rhizoctonia solani

โรคกล้าเน่าที่เกิดจากเชื้อรา Pythium aphanidermatum
โรคผลเน่าแห้งหรือปลายผลดำ
ผลมีอาการเน่าแห้ง ช้ำเป็นสีน้ำตาลที่ก้นผล เนื้อบุ๋มลงไปเล็กน้อย และขยายใหญ่ออก ถ้ามีการเข้าทำลายซ้ำจากเชื้อราหรือแบคทีเรียจะทำให้เน่าเละ
เกิดจาก การขาดธาตุอาหารแคลเซียม มักเกิดในดินที่เป็นกรดจัด
วิธีป้องกันกำจัด
ใส่หินปูนหรือปูนขาว เพื่อแก้ปัญหาดินกรด หรือ ใส่ แคลเซียมโบรอน เมื่อเริ่มติดผล

ผลมะเขือเทศที่มีอาการปลายผลก้นเน่า
โรคราแป้ง
ใบจะมีสีเหลืองไม่สม่าเสมอกัน ใบที่มีสีเหลืองมาก ๆ จะร่วงหล่นได้ง่าย จะเห็นเป็นผงหรือฝุ่นแป้งสีขาว กระจัดกระจายทั่วไปทางด้านท้องใบ
วิธีป้องกันกำจัด
ใช้ คาร์เบนดาซิม หรือ แมนโคเซป ฉีดป้องกัน หรือกำจัด ทุก 5 – 7 วัน
โรคแอนแทรคโนส
มักเกิดที่ผล จะเกิดเป็นจุดบุ๋ม กลางแผลมีสีน้ำตาล เมื่อเป็นรุนแรงผลจะแตกและเน่าเละได้
วิธีป้องกันกำจัด
ในระยะก่อนเก็บเกี่ยว พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น สารกลุ่มรหัส 1, 3, 6 สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ แนะนำสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืช และวิธีการสลับยา(ป้องกันการดื้อยา)

ผลมะเขือเทศที่เป็นโรคแอนแทรคโนส
โรคใบหงิกเหลืองที่เกิดจากไวรัส
ถ้าเกิดในระยะที่ยังไม่ออกดอก จะไม่ให้ผลผลิตเลย จะแสดงอาการใบยอดหงิกเหลือง ม้วนงอ ใบเล็กลง ยอดเป็นพุ่ม ต้นแคระแกร็น
พาหะ : แมลงหวี่ขาว
วิธีป้องกันกำจัด
คลุกเมล็ดด้วยสารป้องกันกำจัดแมลงปากดูด เช่น คาร์โบซัลแฟน อิมิดาคลอพริด
ตรวจแปลง และกำจัดต้นที่เป็นโรคออก
พ่นสารป้องกันกำจัดแมลงปากดูด ที่มีประสิทธิภาพต่อแมลงหวี่ขาว เช่น อิมิดาคลอพริด ฟิโพรนิล เฟนโพรพาทริน คาร์โบซัลแฟน

โรคใบหงิกเหลืองมะเขือเทศ
ต้นทุนการปลูกมะเขือเทศ
เป็นต้นทุนการผลิตโดยประมาณ ทั้งนี้ขึ้นกับพื้นที่ที่เพาะปลูกด้วย
ค่าเมล็ดพันธุ์ | 1000 |
ค่าเตรียมดิน | 1600 |
ค่าปุ๋ย | 1000 |
ค่าสารป้องกันกำจัดโรคพืชและแมลง | 1000 |
ค่าวัสดุ | 1000 |
ค่าแรงงานการเก็บเกี่ยว | 3700 |
รวม | 9300 |
ที่มา: กรมส่งเสริมการเกษตร
แอดไลน์มาสิ ! คุณจะไม่พลาดข่าวสารสำคัญๆ หรือ สอบถาม แบบสั้นๆเข้าใจง่ายไว้ในบทความนี้ วิธีปลูก มะเขือเทศ เพิ่มเติม
เกษตรสมบูรณ์ บริการให้คำปรึกษาด้านการเกษตร และ จำหน่าย ปุ๋ย ยา และ เมล็ดพันธุ์ผัก เช่น ศรแดง เจียไต๋ และตะวันต้นกล้า ราคาปลีกและส่ง พร้อมจัดส่งทั่วประเทศ