เกษตรผสมผสาน คือระบบการเกษตรที่มีการปลูกพืช และการเลี้ยงสัตว์หลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน โดยอาศัยความเป็นประโยชน์เกื้อกูลกันและกัน จนเกิดความสมดุลกันในระบบนิเวศอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

 

เกษตรผสมผสานรูปแบบภูมปัญญาเกษตร คือระบบการเกษตรที่มีการปลูกพืชหลายชนิด โดยคำนึงถึงหลักดังนี้

  1. ระดับความสูงต่างกัน(เรือนยอด) โดยเรือนยอดของพืชแบ่งได้ 4 ชั้น คือ

1.1 เรือนยอดชั้นบนหรือชั้นไม้เด่น พืชในเรือนยอดชั้นบนจะมีระดับยอดที่สูงกว่าชั้นอื่นๆ เมื่อนำมาปลูกร่วมกับชั้นอื่นๆจะส่งผลให้พืชชั้นนี้ได้รับแสงเต็มที่ทั้งด้านบนและด้านข้าง พืชในเรือนยอดชั้นบนจึงเจริญติบโตได้ดีกว่าชั้นอื่นๆ

1.2 เรือนยอดชั้นรองหรือชั้นไม้รอง พืชในเรือนยอดชั้นรองเป็นพืชชั้นเรือนยอดปกติ ซึ่งจะอยู่ระดับเดียวกันเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้พืชชั้นนี้ได้รับแสงเพียงด้านบนด้านเดียว ส่วนด้านข้างอาจได้แสงเพียงเล็กน้อยเนื่องจากถูกบังจากพืชต้นอื่น

1.3 เรือนยอดชั้นกลางหรือชั้นไม้กลาง พืชในเรือนยอดชั้นกลางจะอยู่ต่ำกว่าระดับยอดของพืชชั้นบนและชั้นรอง ส่งผลให้พืชชั้นนี้ได้รับแสงเพียงเล็กน้อยที่ผ่าน     เข้ามาจากด้านบนบ้างเล็กน้อย

1.4 เรือนยอดชั้นล่างหรือไม้ล่าง พืชในเรือนยอดชั้นล่างจะอยู่ต่ำกว่าระดับยอดของพืชทั้งบริเวณ ส่งผลให้พืชชั้นนี้ไม่ได้รับแสงเลย

รูปภาพ : อธิบายชั้นเรือนยอด

 

2. ลักษณะของและธรรมชาติของต้นไม้ที่ต่างกัน เช่น การหยั่งรากของพืช(ไม่แย่งอาหารกันเอง), ความต้องการอาหารและธาตุอาหาร และความต้องการแสง(ไม่มีปัญหาเมื่อพืชที่มีระดับเรือนยอดที่สูงกว่าบังแสง) เป็นต้น

โดยมุ่งเน้นให้พืชทุกชนิดเกื้อกูลกัน ต้นไม้เล็กได้ปุ๋ยจากต้นไม้ใหญ่ ส่วนต้นไม้ใหญ่อาศัยต้นไม้เล็กคลุมดินให้เกิดความชุ่มชื้น ซึ่งการปลูกพืชจะแตกต่างกันไปตามแนวคิดของเกษตรกรแต่ละคน ความเหมาะสมของพื้นที่ แหล่งน้ำ และดินฟ้าอากาศ

 

ตัวอย่างแนวทางการปลูกแบบภูมิปัญญาเกษตร

  1. ภูมิปัญญาเกษตร 4 ชั้น

ภูมิปัญญาเกษตร 4 ชั้น คือการเกษตรเชิงนิเวศที่มีสถาพใกล้เคียงกับป่าในธรรมชาติ โดยใช้ความรู้จากเกษตรกรสมัยก่อนและหลักเรือนยอด ซึ่งการเกษตรรูปแบบนี้แบ่งเป็น 4 ชั้น คือ

1. เรือนยอดชั้นบน

1.1 พืชที่ปลูกใช้เนื้อไม้ทำที่อยู่อาศัยและใช้สอยต่างๆ เช่น ตะเคียนทอง, สัก, ยางนา, สะเดา และจำปาทอง เป็นต้น

1.2 พืชที่ปลูกเพื่อใช้ผลเป็นอาหาร เช่น สตอ, เหรียง, กระท้อน, มะพร้าว และหมาก เป็นต้น

2. เรือนยอดชั้นกลาง คือพืชที่ปลูกเพื่อขาย หรือกินเองในครัวเรือน สามารถใช้เป็นสมุนไพรได้ เช่น มะม่วง, ขนุน, ชมพู่, มังคุด, ไผ่, ทุเรียน, ลองกอง และปาล์ม เป็นต้น

3. เรือนยอดชั้นล่าง (ผิวดิน) คือพืชที่ปลูกเพื่อใช้เป็นอาหาร สมุนไพร และของใช้ เช่น ผักป่าชนิดต่างๆ เช่น กาแฟ, ชะพูล, มะนาว, หวาย และสบู่ดำ เป็นต้น

4. เรือนยอดชั้นใต้ดิน คือพืชที่ปลูกเพื่อใช้เป็นหลักความพอเพียงด้านการกิน โดยพืชชั้นนี้จะเป็นพืชหัวและใช้ประโยชน์จากส่วนที่อยู่ใต้ดิน เช่น กลอย, ขิง, ข่า, กระชาย และกระทือ เป็นต้น

ศึกษาต่อได้ที่นี่ ภูมิปัญญาเกษตร 4 ชั้น 

Credit : คุณพงศา ชุแนม

 

2. ภูมิปัญญาเกษตร 5 ชั้น

ภูมิปัญญาเกษตร 5 ชั้น คือการเกษตรที่มีการปลูกพืชหลากหลายชนิด ในแปลงเดียวกัน หลุมเดียวกัน แต่มีความสูงต่างกัน โดยแบ่งเรือนยอดเป็น 5 ชั้น คือ

1. เรือนยอดชั้นสูงสุด คือพืชประเภทไม้ใหญ่ หรือไม้ยืนต้น ซึ่งจะมีมูลค่ามหาศาลในอนาคต เปรียบเสมือนการออมเงินระยะยาว เช่น ยางนา, สะแบง, ประดู่, สัก และกฤษณา เป็นต้น

2. เรือนยอดชั้นกลาง คือพืชที่สูงรองลงมาจากพืชเรือนยอดชั้นสูงสุด ซึ่งเป็นพืชจำพวกผลไม้ เช่น ลำไย, มะม่วง, มะขาม, ลิ้นจี่, เงาะ และไผ่ เป็นต้น

3. เรือนยอดชั้นต่ำ คือพืชประเภทไม้ทรงพุ่มเตี้ย ได้แก่ ผักเม็ก, ผักติ้ว, มะกรูด, มะนาว, กระสัง, กล้วย และแก้วมังกร เป็นต้น

4. เรือนยอดชั้นผิวดิน คือพืชประเภทผักสวนครัวเป็นหลัก เช่น ขิง, ข่า, ตะไคร้, หอมเป(ชีฝรั่ง), สะระแหน่, บัวบก และพวกสมุนไพร เป็นต้น

5. เรือนยอดชั้นใต้ดิน คือพืชประเภทพืชหัว สำหรับใช้เป็นอาหาร เช่น มันสำปะหลัง และมันเทศ เป็นต้น

 

รูปภาพ : ภูมิปัญญาเกษตร 5 ชั้น

Credit :  http://www.kasetporpeangclub.com

Credit : คุณมนู มีชัย

 

  1. ภูมิปัญญาเกษตร 5 ชั้น(แบบที่ 2)

ภูมิปัญญาเกษตร 5 ชั้น(แบบที่ 2) คือ การเกษตรที่เลือกปลูกพันธุ์ไม้ที่มีความเกื้อกูล พึ่งพาอาศัยกันและกัน และสามารถอยู่กันได้อย่างยั่งยืน แบ่งเป็น 4 ชั้น คือ

3. ชั้นที่ 1 คือพืชประเภทไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูง และอายุยืน เช่น มะฮอกกานี และจำปาทอง เป็นต้น

2. ชั้นที่ 2 คือพืชหลักที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูก เช่น ลองกอง เป็นต้น

3. ชั้นที่ 3 คือพืชที่ใช้คลุมโคนต้นของพืชชั้นที่ 2 มีความสามารถ ยึดพื้นดิน และแพร่ขยายราก เช่น ชบา เป็นต้น

4. ชั้นที่ 4 คือพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในที่ร่ม เช่น พืชสมุนไพรต่างๆ เป็นต้น

5. ชั้นที่ 5 คือพืชที่ใช้คลุมดิน มีความสามารถยึดหน้าดินเป็นหลัก

ศึกษาต่อได้ที่นี่ ภูมิปัญญาเกษตร 5 ชั้น(แบบที่ 2) ตอนที่ 1  และ ภูมิปัญญาเกษตร 5 ชั้น(แบบที่ 2) ตอนที่ 2

Credit : คุณสถิตย์ มีศรี

  1. ภูมิปัญญาเกษตร 7 ชั้น

ภูมิปัญญาเกษตร 7 ชั้น คือการเกษตรที่ปลูกพืชแบบผสมผสาน โดยคำนึงถึงอายุของพืชปลูกเป็นเกณฑ์การแบ่งชั้น ซึ่งแบ่งได้ทั้งหมด 7 ชั้น คือ

1. ชั้นที่ 1 คือพืชประเภทไม้ยืนต้น สามารถใช้ประโยชน์ได้เมื่อมีอายุ 10 ปีขึ้นไป เปรียบเสมือน มรดก และบำเหน็จ บำนาญ ยามเกษียณ เช่น ประดู่, ยางนา, สัก และมะค่า เป็นต้น

2. ชั้นที่ 2 คือพืชประเภทไม้ผลส่วนใหญ่ รวมถึงพืชพลังงาน สามารถเก็บเกี่ยวได้เมื่อมีอายุ 3 ปีขึ้นไป เช่น มะม่วง, ลำไย, กระท้อน และขนุน เป็นต้น

3. ชั้นที่ 3 คือพืชประเภทไม้ทรงพุ่ม สามารถเก็บเกี่ยวได้เมื่อมีอายุ 1 ปีขึ้นไป เช่น มะนาว, มะละกอ, มะเขือพวง และกล้วย เป็นต้น

4. ชั้นที่ 4 คือพืชประเภทพืชหน้าดินทั่วไป ได้แก่ พืชผักสวนครัว เป็นต้น

5. ชั้นที่ 5 คือพืชประเภทพืชหัว หรือพวกที่อยู่ใต้ดิน เช่น ขิง, ข่า, กระชาย, เผือก และมัน เป็นต้น

6. ชั้นที่ 6 คือพืช ประเภทพืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง, ผักกะเฉด และบัว เป็นต้น

7. ชั้นที่ 7 คือพืชประเภทพืชเกาะเกี่ยว เช่น ตำลึง, มะระ, ถั่วฝักยาว และบวบเป็นต้น

 

รูปภาพ : ภูมิปัญญาเกษตร 7 ชั้น

Credit : อัษฎางค์ สีหาราช ประธานศูนย์ฝึกอบรมเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดอุตรดิตถ์

 

  1. ภูมิปัญญาเกษตร 9 ชั้น

ภูมิปัญญาเกษตร 9 ชั้น(พืชคอนโด 9 ชั้น) คือการเกษตรที่ปลูกพืชร่วมกับเลี้ยงสัตว์เป็นลำดับชั้น เพื่อเพิ่มกิจกรรมทางการเกษตรให้มากขึ้น โดยการปลูกพืชทั้ง 9 ชั้นสามารถสร้างรายได้ ได้ทั้งหมด 4 รูปแบบคือ

1. รายได้แบบรายวัน จากพืชขั้นที่ 1 – 4

2. รายได้แบบรายสัปดาห์ จากพืชชั้นที่ 5

3. รายได้แบบรายปี จากพืชชั้นที่ 6 – 7

4. รายได้ในรูปเงินออมระยะยาว จากพืชชั้นที่ 8 – 9

ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกมีรายได้ตลอดทั้งปี และยังมีการออมเงินระยะยาวที่มีมูลค่ามหาศาลอีกด้วย ซึ่งภูมิปัญญาเกษตรทั้ง 9 ชั้นมีดังนี้

1. ชั้นที่ 1 คือการเลี้ยงปลาร่วมกับการปลูกพืชน้ำในสระ เช่น ผักกระเฉด, ผักบุ้ง และบัว เป็นต้น

2. ชั้นที่ 2

2.1 พืชประเภทพืชกลอย เช่น มันหอม เป็นต้น

2.2 พืชประเภทพืชหัว เช่น ขมิ้น และกระชาย เป็นต้น

3. ชั้นที่ 3 คือพืชไร่ที่ปลูกตามความต้องการของตลาดทั่วไป เช่น พริก, มะเขือ และผักเหรียง เป็นต้น

4. ชั้นที่ 4 ปลูก ส้มจี๊ด

5. ชั้นที่ 5 ปลูก กล้วยเล็บมือนาง

6. ชั้นที่ 6 ปลูก ทุเรียน พันธุ์หมอนทอง

7. ชั้นที่ 7 ปลูก สะตอ, มังคุด และลองกอง (โดยจะปลูกพริกไทยดำให้เลื้อยขึ้นไปบนต้นดังกล่าว เพื่อเป็นรายได้เสริมอีกด้วย)

8. ชั้นที่ 8 คือพืชประเภทไม้ยืนต้น หรือไม้ใหญ่ที่มีมูลค่ามาก ซึ่งจะมีมูลค่ามหาศาลในอนาคต เปรียบเสมือนการออมเงินระยะยาว เช่น มะฮอกกานี และสัก เป็นต้น

9. ชั้นที่ 9 ปลูก ไม้ยางนา

ศึกษาต่อได้ที่นี่ ภูมิปัญญาเกษตร 9 ชั้น ตอนที่ 1  และ ภูมิปัญญาเกษตร 9 ชั้น ตอนที่ 2 

Credit : คุณสมบูรณ์ ศรีสุบัติ หรือลุงนิล

 

  ขั้นตอนการเริ่มดำเนินการปลูกพืชเป็นลำดับชั้น
1. จัดการความรู้ของตัวเอง
1.1 ศึกษาสภาพแวดล้อมในพื้นที่ปลูก เช่น สภาพอากาศ ดิน และแหล่งน้ำ เป็นต้น

1.2 ศึกษาธรรมชาติของพืชแต่ละชนิด รวมถึง ระบบราก ทรงพุ่ม ความสูง ความต้องการน้ำและธาตุอาหาร เป็นต้น เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ และวางแผนการปลูก เพื่อให้พืชแต่ละชนิดอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล และเกิดประโยชน์สูงสุด
2. เลือกพืชปลูก คือการเลือกพืชปลูกให้เหมาะสมโดยคำนึงถึงหลักการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลของพืชแต่ละชนิด มีทั้งรายได้หลัก และเสริมอยู่ด้วยกัน ซึ่งทั้งหมดล้วนแตกต่างกันไปตามแนวคิดของเกษตรกรแต่ละคน
3. วางแผนการปลูกพืชอย่างรอบคอบ แล้วจึงตัดสินใจในการดำเนินการ

ประโยชน์ของการทำเกษตรโดยปลูกพืชเป็นลำดับชั้น
1. เป็นแหล่งรวมรวมความรู้ทางด้านการเกษตรแบบฉบับของตนเอง
2. ใช้พื้นที่และทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ลดต้นทุนการผลิต เช่น ปุ๋ย และยา เป็นต้น
4. ลดปัญหา โรค และแมลงศัตรูพืช ภายในพื้นที่ปลูก
5. ได้ประโยชน์จากการเกื้อกูลกันของพืชต่างชนิดกัน เช่น การรักษาความชื้นของพื้นดินจากการปลูกพืชคลุมดิน, การเกิดปุ๋ยอินทรีย์จากใบไม้ที่ร่วงหล่นจากพืชต่างชนิดกัน และลดการถูกเผาไหม้จากแสงแดงกับพืชบางชนิด โดยการบังแสงจากพืชในเรือนยอดชั้นที่สูงกว่า เป็นต้น
6. การสร้างรายได้ตลอดทั้งปี และที่สำคัญสร้างรายได้ในรูปแบบเงินออมระยะยาวที่มีมูลค่ามหาศาล
7. เป็นการกระจายความเสี่ยงโดยการปลูกพืชหลากหลายชนิด ป้องกันเหตุการณ์ราคาผลผลิตตกต่ำ

 

 

Facebook Comments

One thought on “เกษตรผสมผสาน…เกษตรความคิด

  1. Pingback: เศรษฐกิจพอเพียง และการออมเงิน ปี 2020 - ร้านเกษตรสมบูรณ์ ราชบุรี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *