วิธีปลูกมะระขี้นก และมะระจีน ฉบับจับมือทำ !
มะระ เป็นพืชปีเดียว ปลูกได้ง่าย ปลูกได้ตลอดปี แต่จะได้ผลดีสุดช่วงฤดูหนาว มีหลากหลายสายพันธุ์ เช่น มะระขี้นก และมะระจีน เป็นต้น ซึ่งแต่ละสายพันธุ์มีวิธีการปลูกที่คล้ายคลึงกัน อาจต่างกันบ้างเล็กน้อย สำหรับผู้ที่สนใจปลูกเพื่อการค้า สามารถศึกษาการปลูก การดูแล รวมทั้งต้นทุนการผลิต ได้ในบทความนี้
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเจริญ
- เจริญได้ในดินแทบทุกชนิด ควรมีความชื้นในดินต้องเพียงพอ
- ชอบดินร่วนหรือดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำที่ดี
- แสงแดดเต็มที่ตลอดวัน
- ความเป็นกรดด่างที่เหมาะสม 5.5 – 5.6
- ปริมาณการใช้น้ำ 500 – 600 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ต่อฤดูกาลผลิต
การเลือกเมล็ดพันธุ์
เลือกเมล็ดพันธุ์ที่ดี แข็งแรง ไม่เป็นโรคง่าย มีคุณภาพ มีอัตราการงอกสูง และเลือกพันธุ์ที่เป็นที่นิยมของตลาด ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ก็จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน เช่น
มะระจีน เขียวหยก เบอร์ 16 มีลายน้ำที่สวย รูปทรงตรงตามต้องการของตลาด ทนราน้ำค้าง และราแป้ง
มะระจีน ธิเบต มีลายน้ำสวย รูปทรงตรงตามความต้องการของตลาด ทนทานโรค และมีน้ำหนักมาก
มะระขี้นก ไซเบอร์ ผลสีเขียวเข้ม ยาว ดก และทนทานโรค
มะระขี้นก มดดำ ผลสีเขียวเข้ม ลูกสั้นกว่าไซเบอร์ ดก และทนทานโรค
การเตรียมดิน
ควรไถดินก่อน 1 ครั้ง ลึกประมาณ 20 – 25 เซนติเมตร เพราะมะระเป็นพืชที่มีระบบรากลึกปานกลาง แล้วตากดินทิ้ง 7 – 10 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดของดิน เก็บเศษวัชพืชออกแล้วย่อยดินให้ละเอียด อาจปรับสภาพดินให้มีความเป็นกรดด่างที่เหมาะสมด้วยปูนขาว พร้อมใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกที่ย่อยสลายแล้วอัตรา 2 ตันต่อไร และปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ ทำการยกแปลงสูง 30 เซนติเมตร กว้าง 1.5 เมตร ยาว 10 เมตร หรือตามความเหมาะสม และเว้นทางเดิน 50 เซนติเมตร
การเพาะกล้า
ใช้เมล็ดประมาณ 250 เมล็ด ต่อพื้นที่ 1 ไร่ โดยขลิบหัวปลายหัวเมล็ดก่อน แล้วแช่น้ำสะอาดประมาณ 5 ชั่วโมง เพื่อให้เมล็ดงอกได้ดี แล้วปักลงดินในถาดเพาะ เมื่อครบ 20 วัน ย้ายลงปลูกในแปลง
หากไม่เพาะกล้า ทำการหยอดเมล็ดพันธุ์ หลุมละ 3 – 4 เมล็ด (1 ไร่ใช้เมล็ดประมาณ 2 – 4 ลิตร) รดน้ำให้ชุ่ม หลังจากลงปลูกประมาณ 20 วัน หรือต้นกล้ามีใบจริง 4-5 ใบ ถอนต้นที่อ่อนแอทิ้งให้เหลือ 2 ต้นต่อหลุม โดยมีระยะปลูกระหว่างหลุมประมาณ 50 – 75 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 1 เมตร
การปลูก
ย้ายปลูกเมื่อกล้ามะระ หลังจากลงปลูกประมาณ 20 วัน หรือต้นกล้ามีใบจริง 4-5 ใบ หลุมละ 1 ต้น โดยขุดหลุมลึกและกว้าง 1 หน้าจอบ ปลูก ระยะปลูกระหว่างหลุมประมาณ 50 – 75 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 1 เมตร คลุมโคนด้วยฟางหรือหญ้าแห้ง
การทำค้าง
ควรทำค้างเมื่ออายุ 15-20 วันเพราะมะระจะเริ่มเลื้อยสามารถทำได้ 2 แบบ คือ
- แบบปักไม้ค้างยาว 2–2.5 เมตร ทุกหลุมเอนปลายเข้าหากันและมัดไว้ด้วยกัน ใช้ไม้ค้างหรือเชือกไนลอนผูกขวาง ระยะ 40–50 เซนติเมตร หรือใช้ตาข่ายพลาสติกตาห่างขึงแทน ด้านบนของค้างใช้ไม้ค้างพาดขวางมัดกันให้แน่น เพื่อป้องกันการโค่นล้ม
- แบบปักไม้ค้างผูกเป็นร้านสูงประมาณ 1.5–2 เมตร ขึงด้วยตาข่ายพลาสติก
การให้น้ำ
ควรให้น้ำสม่ำเสมอ อาจะให้น้ำเช้า-เย็น ให้ดินมีความชุ่มชื้นเพียงพอแต่ไม่ถึงกับแฉะ และไม่ควรให้ขาดน้ำ โดยเฉพาะในช่วงออกดอกและติดผล จนถึงช่วงก่อนระยะการเก็บเกี่ยวครั้งสุดท้าย 1 – 2 ครั้ง
การให้ปุ๋ย
ช่วงที่ทำค้าง ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 โดยโรยข้างแถว และใส่ในช่วงติดผลด้วยปุ๋ยสูตร 14-14-21
การห่อผล
สามารถห่อได้ทั้งมะระจีน และมะระขี้นก
ห่อเมื่อผลมะระยังเล็กอยู่ มีขนาด 5 – 10 เซนติเมตร (หากผลเล็กกว่านี้จะทำให้ผลเหลืองและร่วง) เพื่อป้องกันแมลงวันทอง และให้ผลมีสีนวลน่ารับประทาน โดยใช้ถุงขนาด 15 – 20 เซนติเมตร ห่อผลโดยที่ถุงนี้มีปากเปิดทั้งด้านบนและด้านล่าง และใช้ไม้กลัดเหน็บกับขั้วผลกับถุงด้านบน ประมาณ 3 อาทิตย์ ก็จะทําการเก็บเกี่ยวได้ (อาจใช้ขวดพลาสติกในการห่อผลมะระ หากสนใจดูเพิ่มเติมได้ ที่นี่)
หมายเหตุ: จะห่อผลหรือไม่ห่อผลก็ได้ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของพื้นที่ หากพื้นที่ไม่มีการระบาดของแมลงมากนัก ก็ไม่จำเป็นต้องห่อผล
การห่อมะระด้วยขวดพลาสติก ที่มา: https://www.bansuanporpeang.com/node/29484
การเก็บเกี่ยว
สำหรับมะระขี้นก เริ่มเก็บได้เมื่อมะระอายุได้ประมาณ 45 วัน
สำหรับมะระจีน เริ่มเก็บได้เมื่อมะระอายุได้ประมาณ 45-50 วัน หรือ 17 วันหลังดอกบาน
ควรเก็บผลที่มีสีเขียว ยังไม่แก่ ทยอยเก็บผลผลิตมีขนาดเหมาะสมทุกวันการเก็บผลควรเก็บทุก ๆ วัน สามารถเก็บผลผลิตได้ 17-20 ครั้ง อายุของต้นเมื่อเก็บเกี่ยวครั้งสุดท้ายประมาณ 85 – 90 วัน แต่ในครั้งหลัง ๆ ผลที่ได้จะมีขนาดเล็ก ถ้าปล่อยให้ผลแก่ติดกับต้นจะทำให้ผลไม่ดก ผลจะร่วงมาก
เทคนิคการเก็บเกี่ยวมะระจีน: การเลือกเก็บมะระ โดยกะจากขนาดทำได้โดย ใช้มือจับผลมะระบริเวณขอบบนของผล(ที่ห่อด้วยกระดาษอยู่)ให้เลือกผลมะระที่มีขนาดเท่ากับมือกำไม่รอบผล
ต้นทุนการผลิต มะระจีนต่อพื้นที่ 1 ไร่
ค่าพันธุ์มะระ | 1600 |
ค่าเตรียมดิน | 1200 |
ค่าแรงงานการห่อผล/เก็บเกี่ยวผลผลิต | 3000 |
ค่าปุ๋ย | 3000 |
ค่าอุปกรณ์ทำค้าง | 3000 |
รวม | 11800 |
หมายเหตุ: ต้นทุนการผลิตอาจมีความคลาดเคลื่อนกันไปแล้วพื้นที่ที่เพาะปลูกด้วย
ที่มา: กรมส่งเสริมการเกษตร
โรคและแมลงที่สำคัญของมะระ
โรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อรา
เริ่มแสดงอาการเหี่ยวที่ใบล่างก่อน จะเหลือง และเหี่ยวตายอย่างรวดเร็วทั้งเถา บางต้นจะมีรอยแตกหรือรอยช้ำสีน้ำตาล ตามเถาหรือตามโคนก้านใบก่อนที่จะตายไป ถ้ามีอากาศชื้นอาจพบเส้นใยสีขาวตามบริเวณโคนต้น โคนก้าน หรือบริเวณที่มีรอยช้ำ
การป้องกันกำจัด:
1.ใช้พันธุ์ต้านทาน เสริมความแข็งแรงให้พืช ปรับดินด้วยปูนขาวและปุ๋ยอินทรีย์
2. หมั่นสำรวจตรวจแปลง พบต้นเป็นโรคขุดต้นและดินในหลุม รวบรวมออกเผาทำลาย
เปิดหน้าดินบริเวณหลุมที่เป็นโรคตากแดดและโรยปูนขาว งดปลูกซ่อม
3.กีดกันโรคหรือป้องกันไม่ให้เชื้อโรคพืชเข้ามาในพื้นที่ปลูก เช่น กักน้ำหรืองดการให้น้ำแบบไหลบ่า เช็คส่วนขยายพันธุ์ก่อนปลูกว่าปราศจากเชื้อสาเหตุปนเปื้อน
4.ปลูกพืชอื่นหมุนเวียน หรือควบคุมโรคโดยชีววิธี
5.เพิ่มปริมาณซิลิกา ให้แก่พืช เพื่อต้านทานโรค โดยใช้ปุ๋ยหมักและแคลเซียม
6.ฉีดพ่นสารแคลเซียมโบรอนหรือสารแคลเซียมไนเตรต (๑๕-๐-๐)เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับพืช
โรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
ใบจะเหี่ยว ห้อยลู่ลง 2-3 ใบ หลังจากนั้นอาการจะค่อยลุกลามไปใบอื่น ๆ ข้างเคียง เถาที่ถูกเชื้อทำลายในระยะแรกจะอ่อนนุ่ม ต่อมาจะแห้งแข็ง และในที่สุดจะเหี่ยวทั้งต้น
ถ้าใช้มีดตัดเถาที่มีอาการเหี่ยวจากเชื้อแบคทีเรีย แล้วบีบดูจะมีน้ำเมือกขาวข้นไหลออกมา
การป้องกันกำจัด: ใช้ คาร์เบนดาซิม ฉีดป้องกัน หรือกำจัด ทุก 5 – 7 วัน
โรคราน้ำค้าง
ใบจะมีอาการจุดสี่เหลี่ยมสีน้ำตาลด้านบนใบ ทำให้ใบแห้งเหลือง ถ้าอากาศชื้นด้านท้องใบบริเวณที่ตรงกับแผล จะพบเส้นใยขุยสีขาวของรา มักจะเป็นที่ใบแก่ที่โคนก่อน แล้วลุกลามไปสู่ใบที่อยู่ด้านบน หากมีอาการรุนแรงจะทำให้ใบเหลืองและแห้งตายทั้งต้น พืชที่เป็นโรคจะติดผลน้อย ผลมีขนาดเล็ก คุณภาพของผลจะลดลง หากเป็นโรคในระยะมีผลอ่อน จะท้าให้ผลลีบเล็ก และบิดเบี้ยว
อาการราน้ำค้าง
การป้องกันกำจัด: ใช้ แมนโคเซป, เมทาแลคซิล หรือ ไทแรม เป็นต้น ฉีดป้องกัน หรือกำจัด ทุก 5 – 7 วัน
โรคใบด่างเหลืองหรือมะระบ้า
อาการใบด่างเหลืองหรือมะระบ้า
เป็นอาการใบด่างเหลือง ที่เกิดจากเชื้อไวรัส ใบมีอาการด่างเหลืองเข้มสลับซีด และบางส่วนยังเขียว ใบจะงุ้มลงและกระด้าง ยอดไม่เจริญยืดออกและมีสีซีด
แมลงพาหะ: เพลี้ยอ่อนฝ้าย เพลี้ยอ่อนผัก
การป้องกันกำจัด: ใช้ คลอร์ไพริฟอส + ไซเพอร์เมทริน, คลอร์ไพริฟอส หรือ อะบาเมกติน เป็นต้น ทุก 5 – 7 วัน เพื่อควบคุมแมลงพาหะ
แมลงวันทอง
แมลงวันทอง
แมลงวันทองจะเจาะและวางไข่ในผลทำให้มีหนอนไชผล ผลจะเล็ก แกรนและเน่าเสีย
การป้องกันกำจัด: การห่อผล
แอดไลน์มาสิ ! คุณจะไม่พลาดข่าวสารสำคัญๆ หรือ สอบถาม แบบสั้นๆเข้าใจง่ายไว้ในบทความนี้ วิธีปลูกมะระขี้นก และมะระจีน เพิ่มเติม
เกษตรสมบูรณ์ บริการให้คำปรึกษาด้านการเกษตร และ จำหน่าย ปุ๋ย ยา และ เมล็ดพันธุ์ผัก เช่น ศรแดง เจียไต๋ และตะวันต้นกล้า ราคาปลีกและส่ง พร้อมจัดส่งทั่วประเทศ
ID Line : @uox0813g
Facebook : www.facebook.com/kasetsomboonstore
Facebook : fb.me/kasetsomboonstore