สารแนะนำสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืช และวิธีการสลับยา(ป้องกันการดื้อยา)

สารป้องกันกำจัดโรคพืช(โรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา) เป็นสารเคมีที่ดัดแปลงให้อยู่ในรูปที่เป็นพิษต่อเชื้อราสาเหตุโรค โดยที่สารออกฤทธิ์จะไปมีความเป็นพิษและขัดขวางกระบวนการการทำงานของเชื้อรา แต่ไม่เป็นพิษต่อพืช

การแบ่งชนิดของสารป้องกันกำจัดโรคราเพื่อใช้เป็นวิธีการสลับยา สามารถแบ่งได้หลายวิธี ที่จะพูดถึงในบทความนี้ ได้แก่

การแบ่งโดยใช้ปฏิกริยาของสารที่มีต่อพืช

  • ประเภทกระจายทั่วต้น (systemic action) หรือชนิดดูดซึม

สารเคมีชนิดนี้เมื่อฉีดพ่นลงบนพืชแล้วจะถูกดูดซึมเข้าไปภายในเนื้อเยื่อพืช  และแพร่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของพืชโดยผ่านทางระบบท่อลําเลียง สามารถคงประสิทธิภาพอยู่ในพืชได้นาน จะออกฤทธิ์เพียงจุดเดียวในเซลเชื้อ (single-site action) ทำให้มีความเฉพาะเจาะจงต่อเชื้อ จึงมีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดเชื้อสูงกว่าประเภทสารไม่ดูดซึม แต่เมื่อใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เชื้อเกิดอาการดื้อยาได้ เช่น คาร์เบนดาซิม (carbendazim) เบโนมิล (benomyl) ไธอะเบนดาโซล (thisbendazol) เมทาแลคซิล (metalaxyl)

  • ประเภทไม่กระจายทั่วต้น (non-systemic action) หรือชนิดสัมผัส

สารเคมีกลุ่มนี้เมื่อฉีดพ่น จะเกาะที่ผิวด้านนอกของพืช บริเวณที่ได้รับการฉีดพ่น ไม่ดูดซึมเข้าไปในต้นพืช จะยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อบริเวณที่สัมผัสโดยตรง มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดโรคได้กว้างขวาง ออกฤทธิ์ได้หลายจุดในเซลล์เชื้อ (multi-site actions) มีความเฉพาะเจาะจงต่อเชื้อไม่เท่ากับสารกำจัดประเภทดูดซึม แต่ยังไม่พบการเกิดการดื้อยา เวลาใช้จะต้องทำการฉีดพ่นซ้ำบ่อย ๆ

เช่น แมนโคเซบ (mancozeb) แคปแทน (captan) มาเน็บ (maneb) ไซเน็บ (zineb) ไทแรม (thiram) PCNB (pentachloronitrobenzene)

การแบ่งโดยใช้กลุ่มรหัส

Fungicide Resistance Action Committee: FRAC หรือ คณะกรรมการดำเนินการเกี่ยวกับการดื้อต่อสารป้องกันกำจัดโรคพืช ได้กำหนดกลุ่มของสารป้องกันกำจัดโรคราขึ้นเป็นรหัส โดยพิจารณาจากการดื้อยา กลไกการออกฤทธิ์ และอื่น ๆ 

  • กลุ่มรหัส MOA (Mode of action) มีกลุ่มรหัสเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ ที่ใช้ในการแบ่งกลุ่มสารป้องกันกำจัดโรคพืช ตามกลไกการออกฤทธิ์ (Mode of action)

โดยสารป้องกันการกำจัดพืชจะเข้าไปออกฤทธิ์ขัดขวางกระบวนการทำงานของเชื้อราดังนี้

A: กระบวนการเมทาบอลิซึมของกรดนิวคลีอิค

B: การทำงานของ cytoskeleton และ motor protein

C. กระบวนการหายใจระดับเซลล์

D: กระบวนการสังเคราะห์กรดอะมิโน และโปรตีน

E: การถ่ายโอนสัญญาณภายในเซลล์

F: กระบวนการสังเคราะห์ไขมัน

G: กระบวนการสังเคราะห์ sterol

H: กระบวนการสังเคราะห์ผนังเซลล์

I: การสังเคราะห์ melanin ที่ผนังเซลล์

P: การชักนำความต้านทานให้แก่พืช

M: ออกฤทธิ์เข้าทำลายหลายจุด

U: ไม่รู้กลไกการออกฤทธิ์

  • กลุ่มรหัส Target site and code เป็นกลุ่มรหัสที่ย่อยจากกลุ่มรหัส MOA ใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษและตัวเลข ในการแบ่งกลุ่มสารป้องกันกำจัดโรคพืช ตามตำแหน่งที่สารป้องกันกำจัดโรคพืชเข้าทำลายเชื้อรา
  • กลุ่มรหัส FRAC มีความคล้ายกับTarget site and code แต่จะมีการกล่าวถึงกลุ่มสารเคมีด้วย โดยใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษและตัวเลข ในการแบ่งกลุ่มสารป้องกันกำจัดโรคพืช โดยกลุ่มตัวเลข แบ่งออกเป็นทั้งหมด 50 กลุ่ม และมีกลุ่มตัวอักษร ได้แก่ กลุ่ม M กลุ่ม P และกลุ่ม U

ตัวอย่างกลุ่มยา ที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย

กลุ่มที่ 1Benzimidazole เช่น เบโนมิล คาร์เบนดาซิม ไทโอฟาเนทเมทิล

กลุ่มที่ 2 Dicarboximide เช่น ไอโพรไดโอน โพรไซไดโอน

กลุ่มที่ 3 Demethylation-inhibiting เช่น โพรคลอราซ ไตรฟอรีน เตตระโคนาโซล ไมโครบิวทานิล ไดฟีโนโคนาโซล

กลุ่มที่ 4 Phenylamide เช่น เมทาแลกซิล

กลุ่มที่ 5 Morpholine เช่น อัลดิมอร์ฟ โดดีมอร์ฟ

กลุ่มที่ 6 Phosphorothiolates เช่น ไอโซโพรไทโอเลน

กลุ่มที่ 7 Succinate- dehydrogenase inhibitors เช่น ฟลูโอไพแรม คาบ๊อกซิน

กลุ่มที่ 11 Strobilurin เช่น อะซอกซีสโตรบิน

กลุ่มที่ 22 Thiazolecarboxamide เช่น อีทาบอกแซม

กลุ่มนี้การเข้าทำ แบบสัมผัสเท่านั้น ไม่ใช่ดูดซึม

กลุ่ม M01 Inorganic (copper) เช่น คอปเปอร์

กลุ่ม M02 Inorganic (sulfure) เช่น ซัลเฟอร์

กลุ่ม M03 Dimethyldithiocarbamate เช่น แมนโคเซบ มาเน็บ ไซเน็บ ไซแรม ไทแรม โพรพิเนบ

กลุ่ม M04 Phthalimides เช่น แคปแทน

กลุ่ม M05 Chloronitrile เช่น คลอโรทาโลนิล

วิธีการดูกลุ่มสาร

ตัวอย่างกลุ่มยาหมวดตัวเลข

จากภาพด้านบน กรอบสีแดง คือ ลำดับกลุ่มของสารกำจัดโรคพืช โดยภาพด้านซ้าย อยู่ในกลุ่ม 1 ส่วนด้านขวาอยู่ในกลุ่ม 2 และในกรอบสีเขียว คือ กลุ่มสารเคมี โดยภาพด้านซ้าย คือ กลุ่มสาร Benzimidazole ส่วนด้านขวา คือ กลุ่มสาร Phenylamide

ตัวอย่างกลุ่มยา กลุ่ม M

กลุ่ม M มักไม่ค่อยระบุลำดับกลุ่มในฉลาก แต่สามารถจำแนกกลุ่มสารออกฤทธิ์ได้โดยดูจากกลุ่มของสารเคมี ในกรอบสีเหลือง หรือสามารถศีกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลุ่มสาร ได้ที่ www.frac.info

โดยภาพด้านซ้าย คือ กลุ่มสาร Chloronitrile ส่วนด้านขวา คือ กลุ่มสาร Dimethyldithiocarbamate

กลุ่มสารป้องกันกำจัดโรคพืชที่มีรายงานว่ามีความเสี่ยงต่อการดื้อยาสูง คือ กลุ่มที่ 1 Benzimidazole และ กลุ่มที่4 Phenylamide ซึ่งเป็นกลุ่มยาชนิดดูดซึม ที่มีประสิทธิภาพป้องกันกำจัดเชื้อราก่อโรคได้อย่างกว้างขวาง จึงมีการใช้กันแพร่หลาย แต่เมื่อมีการใช้ซ้ำเป็นเวลานาน อาจเกิดการดื้อยาได้  ดังนั้นเมื่อเลือกใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืช จึงควรสลับกลุ่มตัวยา เพื่อป้องกันการดื้อยาของเชื้อราสาเหตุโรค

นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่น ๆ  ที่อาจก่อให้เกิดการดื้อยาได้อีก ดังนี้

  • การใช้สารกำจัดโรคพืชผิดประเภท ไม่ตรงกับโรคที่เกิด
  • การใช้สารกำจัดโรคพืชในอัตราความเข้มข้นที่ต่ำเกินไป อาจเกิดได้จากการใช้สารกำจัดโรคที่มีการปลอมปน ทำให้มีตัวยาน้อยกว่าปกติ
  • การเตรียมสารกำจัดโรคในปริมาณที่น้อยเกินไป เพื่อประหยัด

การป้องกันการเกิดการดื้อยา

  • ไม่ใช้สารป้องกันกำจัดชนิดเดิม(สลับยา) หรือที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันซ้ำเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มที่ 1 และ กลุ่มที่ 4
  • เมื่อเลือกซื้อสารป้องกันกำจัดเชื้อรา ให้เลือกกลุ่มยาที่แตกต่างกัน เพื่อจะผสมหรือสลับกันได้ โดยอาจดูจากรหัสของกลุ่มยา
  • มีการเก็บประวัติการใช้สารกำจัดโรค เพื่อป้องกันการใช้ยาซ้ำ
  • ใช้สารกำจัดโรคอย่างถูกวิธีและมีปริมาณที่เหมาะสม โดยใช้ตามวิธีและปริมาณที่ฉลากกำกับ ไม่ใช้ในปริมาณที่มากไป หรือน้อยไป ทำการตรวจสอบอุปกรณ์ที่ใช้ฉีดพ่น รู้แหล่งที่มาของสารกำจัดโรค หรือใช้สารกำจัดโรคจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เพื่อแน่ใจว่าไม่มีการปลอมปน หรือมีตัวยาน้อยลงไป
  • หากทำการผสมสารกำจัดโรค 2 ชนิดเข้าด้วยกัน ต้องตรวจสอบก่อนว่าสามารถผสมกันได้หรือไม่ และไม่ลดปริมาณยาแต่ละชนิดลง เพราะยาจะออกฤทธิ์คนละที่กัน

ตัวอย่างการสลับกลุ่มใช้ยา เช่น การป้องกันกำจัดโรคแอนแทรคโนสในมะม่วง สามารถใช้สารกำจัดโรคประเภทดูดซึมและไม่ดูดซึมสลับกันได้ โดยอาจใช้ คาร์เบนดาซิม (carbendazim) ในช่วงฤดูฝนหรือช่วงที่มีอาการของโรครุนแรง แต่ในช่วงที่อาการของโรคไม่รุนแรงควรสลับมาใช้สารกำจัดโรคประเภทไม่ดูดซึม  เช่น แมนโคเซบ (mancozeb) แคปแทน (captan) เพื่อป้องกันการดื้อยา

 

แอดไลน์มาสิ ! คุณจะไม่พลาดข่าวสารสำคัญๆ หรือ สอบถาม แบบสั้นๆเข้าใจง่ายไว้ในบทความนี้ แนะนำสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืช และ วิธีการสลับยา(ป้องกันการดื้อยา) เพิ่มเติม

เกษตรสมบูรณ์ บริการให้คำปรึกษาด้านการเกษตร และ จำหน่าย ปุ๋ย ยา และ เมล็ดพันธุ์ผัก เช่น ศรแดง เจียไต๋ และตะวันต้นกล้า ราคาปลีกและส่ง พร้อมจัดส่งทั่วประเทศ 

ID Line : @uox0813g

Facebook : www.facebook.com/kasetsomboonstore

Facebook : fb.me/kasetsomboonstore

 

Facebook Comments

4 thoughts on “แนะนำสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืช และวิธีการสลับยา(ป้องกันการดื้อยา)

  1. Pingback: วิธีปลูก มะเขือเทศ ฉบับจับมือทำ ! - ร้านเกษตรสมบูรณ์ ราชบุรี

  2. Pingback: แมลงหวี่ขาว ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ! - ร้านเกษตรสมบูรณ์ ราชบุรี

  3. Pingback: แมลงหวี่ขาว ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ! | rubberplasmedia

  4. Pingback: กำจัด เพลี้่ยอ่อน ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยาก(ถ้ารู้จริง) - ร้านเกษตรสมบูรณ์ ราชบุรี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *